ปัตตานี

จังหวัดปัตตานี เมืองงามสามวัฒนธรรม

ปัตตานี เมืองงามสามวัฒนธรรม ศูนย์ฮาลานเลิศล้ำ ชนน้อมนำศรัมธา ถิ่นธรรมชาติงามตา ปัตตานีสันติสุขแดนใต้

จังหวัดปัตตานี การเดินทางมาเมืองปัตตานี ในครั้งนี้ เป็นการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงมาจาก เมืองเบตง จ.ยะลา จากยะลา ถึงปัตตานี ใช้เวลาเดินทาง โดยประมาณ 2 ชั่วโมง ก็จะถึงเมืองปัตตานี

เมืองปัตตานีมีหลายสถานที่ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งตัวเมือง แหล่งท่องเที่ยวหลัก จะอยู่บนเส้นทางหลักทางหลวงหมายเลข 410 เรียกว่ามีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งใกล้ถนน

เมืองปัตตานี มีผู้ให้คำจำกัดความในการท่องเที่ยวกล่าวว่า เป็นเมือง แห่ง 3 วัฒนธรรม โดยมีความเชื่อ ความศรัทธา ผูกโยงเรื่องราว ระหว่าง วัฒนธรรม ไทย จีน มลายู

แหล่งท่องเที่ยวดัง ๆ หลายแห่งผูกพันธ์เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ มีเรื่องเล่ามีตำนานในสถานที่สำคัญๆ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามด้านสถาปัตยกรรม ทั้งในเมือง ธรรมชาติ วิถีชีวิต ชุมชม ร่วมทั้งอาหารการกิน

มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี วันนี้เราเดินทางมาแต่เช้า ได้เข้าเยี่ยมชมความสวยงาม “ขอสันติสุขจงมีแก่ท่าน ขอสันติสุขนั้นแก่ท่านเช่นกัน” มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ที่ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามมีความโดดเด่น และยังเป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง

ปีพุทธศักราช 2497 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลาม ว่าเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวปัตตานีส่วนใหญ่นับถืออย่างเคร่งครัดอันจะนำมาซึ่งสันติสุข ประกอบกับในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) เป็นจำนวนมาก

สมควรสร้างมัสยิดกลางที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามขึ้นเพื่อเป็นศรีสง่าแก่ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศตลอดจนเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ ของชาวไทยมุสลิม จึงได้พิจารณาพื้นที่บริเวณริมถนนหลวงสายปัตตานี-ยะลา ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 55 ตารางวา

คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการก่อสร้างมัสยิดกลางปัตตานีขึ้น โดย ฯพณฯ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นได้เดินทางมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2500 เวลา 10.00 น.

มัสยิดกลางแห่งนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างและตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดารเป็นเวลา 9 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้เดินทางมาประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและมอบมัสยิดแห่งนี้ให้แก่ชาวไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี โดยให้ตั้งชื่อว่า “มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี”

มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี สร้างเป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น รูปทรงคล้ายกับ “ทัชมาฮาล” ประเทศอินเดีย ตรงกลางเป็นอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้างสูงเด่นเป็นสง่า

บริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถง มีระเบียงสองข้าง ภายในห้องโถงมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบเป็นที่สำหรับ “คอฏีบ” ยืนอ่านคุฏบะฮ์ในการละหมาดวันศุกร์ หอคอยสองข้างนี้เดิมใช้เป็นหอกลางสำหรับตีกลอง

เป็นสัญญาณเรียกให้มุสลิมมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจ ต่อมาใช้เป็นที่ติดตั้งลำโพง เครื่องขยายเสียงแทนเสียงกลอง ปัจจุบันขยายด้านข้างออกไปทั้ง 2 ข้าง และสร้างหอบัง (อะซาน) พร้อมขยายสระน้ำ และที่อาบน้ำละหมาดให้ดูสง่างามยิ่งขึ้น ภายในมัสยิดประดับด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม

วันที่ 21 ตุลาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนผู้นำศาสนาอิสลามและประชาชน ณ มัสยิดกลางปัตตานี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสัมพันธ์ ทองสมัคร) ให้ดำเนินการบูรณะปรับปรุงอาคารมัสยิดกลางปัตตานี ให้กว้างขวาง มีประโยชน์ใช้สอย จุคนได้มากกว่าเดิม โดยยึดหลักโครงสร้างแบบเดิมไว้

มัสยิดกลางปัตตานี ส่วนใหญ่จะใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ (ละหมาด) วันละ 5 เวลา เป็นกิจวัตรประจำวัน ใช้ในการละหมาดวันศุกร์ และการละหมาดในวันตรุษต่าง ๆ โดยมีชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ปัตตานี และพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในวันศุกร์และวันเสาร์ จะมีการบรรยายธรรมะมีผู้เข้าฟังการบรรยาย ประมาณครั้งละ 3,000 คน เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในหลักการของศาสนา และเพื่อความถูกต้องในการบำเพ็ญศาสนกิจ

เดินทางออกจากมัสยิด ได้เวลา ใกล้เที่ยง กองทัพเดินด้วยท้อง หาอาหารในเมืองปัตตานีทาน แล้วค่อยเดินทาง ไปที่ศาลเจ้าสำคัญในรูปแบบวัฒนธรรมไทยจีน ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จ.ปัตตานี

ขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานจังหวัดนราธิวาส , ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) และ บริษัทเมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์ จำกัด
หมายเหตุ บทความนี้ เป็นบทความ สารคดีเชิงท่องเที่ยว ส่งเสริมเชื่มโยงการท่องเที่ยวในสามจังหวัดภาคใต้ บอกเล่าปัจจุบันจังหวัดปัตตานี เมืองสามอารยธรรม ตำนาน เรื่องเล่า

More from my site

อาชีพรับจ้าง , ช่างภาพ , นักข่าว , รับบันทึกภาพถ่ายภาพงานทั่วไป , แถลงข่าว , สารคดี , เป็นช่างภาพนักเขียนอิสระให้กับ นิตยสารหลายฉบับ , เว็บต่าง ๆ และหนังสือพิมพ์